ในสถานการณ์การขัดกันทางอาวุธ การทำให้ผู้ย้ายถิ่นฐานต้องพลัดพรากจากครอบครัวหรือถูกจับกุมคุมขัง จนทำให้ผู้ย้ายถิ่นฐานเหล่านั้นต้องหายสาบสูญหรือเสียชีวิตถือเป็นการละเมิดกฏหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (International Humanitarian Law – IHL)

อุปสรรคสำคัญที่พบในการคุ้มครองผู้ย้ายถิ่นฐานคือ ผู้ย้ายถิ่นฐานส่วนใหญ่มักพำนักแยกกันอยู่ในหลายประเทศ ทำให้เกิดปัญหาด้านการสื่อสารระหว่างสมาชิกในครอบครัว เนื่องจากใช้ภาษาที่แตกต่างกัน นอกจากนี้อุปสรรคสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การส่งข้อมูลข้ามแดนระหว่างหน่วยงานของแต่ละประเทศที่อาจทำให้เกิดปัญหาในแง่ของการรวบรวมข้อมูล ที่จะถูกนำมาใช้ในการยืนยันตัวตนของผู้ย้ายถิ่นฐานที่เสียชีวิตแล้ว

กรณีดังกล่าวอาจมีความซับซ้อนมากขึ้นหากผู้ย้ายถิ่นฐานไม่ต้องการติดต่อกับครอบครัว เพราะกลัวจะถูกส่งตัวกลับประเทศ (deportation) หรือกลัวว่าจะทำให้ครอบครัวในประเทศต้นทางต้องเผชิญกับการแก้แค้น(reprisal) ดังนั้นหากปราศจากการถ่ายทอดข้อมูลให้ครอบครัวรับรู้ รวมถึงการยืนยันตัวตนของผู้ตั้งถิ่นฐานด้วยการตรวจสอบร่างของผู้เสียชีวิต จึงทำให้ผู้ย้ายถิ่นฐานหลายคนมีสถานะเป็นผู้หายสาบสูญทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงอาจจะเสียชีวิตไปแล้วก็ตาม

อย่างไรก็ตามกฎหมายมนุษยธรรม ฯ ได้กำหนดหลักการสำคัญในการคุ้มครองผู้ย้ายถิ่นฐานไว้อย่างชัดเจน แม้ว่าในทางปฎิบัติอาจยังมีปัญหาอุปสรรคอยุ่บ้าง เช่น การเคารพวิถีความเป็นอยู่ของครอบครัว (family life) การอำนวยความสะดวกและการประสานการติดต่อระหว่างเครือญาติในครอบครัว (maintenance and re-establishment of family links) การสืบเสาะสภาพความเป็นอยู่และสถานที่ที่พบเห็นผู้สูญหาย รวมทั้งการค้นหา จัดเก็บข้อมูล และยืนยันตัวตนของผู้เสียชีวิต

ทั้งนี้หลักการที่กล่าวมา ได้กำหนดพันธกรณีในเชิงกระบวนการ (ซึ่งต่างจากพันธกรณีในเชิงผลสัมฤทธิ์) โดยให้ฝ่ายที่มีส่วนร่วมในความขัดแย้งต้องแจ้งให้ครอบครัวทราบถึงชะตากรรมของผู้สูญหาย เมื่อได้รับหรือมีการค้นพบข้อมูล พันธกรณีที่นี้มีผลให้ทุกฝ่ายต้องปฏิบัติตามอย่างต่อเนื่องแม้ว่าสถานการณ์การขัดกันทางอาวุธจะยุติไปแล้วก็ตาม

ในกรณีที่มีผู้สูญหายระหว่างสถานการณ์การขัดกันทางอาวุธ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งต้องใช้ทุกวิถีทางในการแสวงหาและแจ้งให้ครอบครัวผู้สูญหายทราบ หากผู้สูญหายเสียชีวิตไปแล้วก็ให้ใช้หลักปฎิบัติเดียวกัน นอกจากนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งยังต้องช่วยอำนวยความสะดวกให้กับครอบครัวที่พรากจากกัน ด้วยการช่วยตามหาและประสานงานติดต่อให้กับสมาชิกครอบครัว และหากเป็นไปได้ก็ควรช่วยเหลือให้พวกเขาเหล่านั้นได้กลับมาอยู่ร่วมกันอีกครั้ง

สถานการณ์การขัดกันทางอาวุธที่ไม่ใช่ในระดับระหว่างประเทศ (non-international armed conflicts)

ในสถานการณ์การขัดกันทางอาวุธที่ไม่ใช่ในระดับระหว่างประเทศ ผู้ย้ายถิ่นฐานยังคงได้รับความคุ้มครองภายใต้กรอบกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศเช่นเดียวกัน เนื่องจากในตัวกฎหมายได้รระบุถึงการเคารพวิถีความเป็นอยู่ของครอบครัว กล่าวคือ เป็นหลักจารีตประเพณีของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ทำให้ต้องมีการปกป้องบุคคลไม่ให้หายสาบสูญหรือถูกพรากไปจากครอบครัว และจะต้องมีการตามหาสมาชิกครอบครัวให้สามารถติดต่อถึงกันรวมถึงทำให้พวกเขากลับมาอยู่ด้วยกันอีกครั้ง

กล่าวโดยสรุป ในกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ หลักการที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครอง ได้แก่ ฝ่ายที่มีส่วนร่วมในความขัดแย้งต้องดำเนินมาตรการที่เหมาะสม เพื่ออำนวยความสะดวกให้ครอบครัวที่ถูกพรากจากกันในห้วงเวลาหนึ่งสามารถกลับมาอยู่ร่วมกันได้อีกครั้ง ทั้งนี้มีการกำหนดมาตรการเฉพาะด้านไว้ด้วย อาทิ การยืนยันตัวตนของผู้เยาว์ การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลข่าวสารภายในประเทศ (Information Bureau) เพื่อทำงานร่วมกับสำนักงานกลางเพื่อสืบหาญาติ (Central Tracing Agency) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้คณะกรรมการชาดระหว่างประเทศ

อนึ่ง ตามหลักการว่าด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลติดต่อระหว่างสมาชิกในครอบครัว ฝ่ายที่มีส่วนร่วมในความขัดแย้งจะต้องดำเนินมาตรการในทุกวิถีทางเท่าที่สามารถกระทำได้ เพื่อให้ทราบถึงชะตากรรมหรือสถานที่ที่พบเห็นผู้สูญหาย แล้วจึงแจ้งให้ครอบครัวของผู้สูญหายทราบ และถ้าหากพบว่าบุคคลนั้นเสียชีวิตแล้ว ฝ่ายที่มีส่วนร่วมในความขัดแย้งจะต้องรวบรวมข้อมูลผู้เสียชีวิต บันทึกข้อมูลทั้งหมดที่จำเป็นต่อการยืนยันตัวตนในภายหลัง พร้อมกับรับรองว่าศพจะได้รับการดูแลจัดการอย่างเหมาะสม โดยขั้นตอนดังกล่าวจะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อนที่จะเริ่มจัดการศพ หัวใจสำคัญของหลักการนี้คือ จะต้องแจ้งให้ครอบครัวทราบถึงชะตากรรมของสมาชิกครอบครัวที่ถูกพรากจากกัน รวมถึงสถานที่ฝังศพตามสมควร