การเดินทางจากบ้านมีได้หลายเหตุผล การที่ใครสักคนจะได้รับการต้อนรับหรือดูแลมากแค่ไหน บางครั้งก็ขึ้นอยู่กับเหตุผลของการเดินทาง ที่จะบอกว่าผู้อพยพท่านนี้ควรได้รับสถานะ (status) หรือ การคุ้มครอง (protection) แบบใด

แต่ไม่ว่าจะหลบหนีจากสงครามหรือเดินทางหางานสร้างอนาคต ไม่ว่าจะถูกบังคับให้เคลื่อนย้ายหรือเต็มใจออกจากบ้าน สิ่งที่ผู้คนเหล่านี้ต้องเผชิญไม่ต่างกัน คืออุปสรรค์ที่มักเกิดขึ้นระหว่างทาง นายปีเตอร์ เมาเรอร์ ประธานคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) กล่าวถึงประสบการณ์ความยากลำบากที่ผู้คนเหล่านี้ต้องเผชิญไว้ว่า:

‘เมื่อตัดสินใจออกเดินทาง ผู้อพยพและประชากรพลัดถิ่นต้องเผชิญโจทย์ยากตั้งแต่ก้าวแรก บนเส้นทางมีความไม่แน่นอน หลายชีวิตไม่สามารถไปถึงจุดหมายได้อย่างปลอดภัย หรือต่อให้ไปถึง สิ่งที่หลายคนต้องเจอคือปัญหาด้านการเข้าถึงบริการด้านสาธารณะสุข สภาพที่อยู่อาศัย ร่วมไปถึงโอกาสทางการศึกษาและการหางานทำ พวกเขาตกเป็นเป้าของการถูกเอาเปรียบ ข่มขู่และคุกคาม เนื่องจากไม่มีครอบครัวหรือคนรู้จักคอยให้ความช่วยเหลือ หลายคนประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บไข้ในระหว่างนั้น แต่ไม่มีเงินพอเข้ารับการรักษา และไม่สามารถติดต่อกับครอบครัวได้ ด้วยเหตุผลต่างๆ ที่ว่ามานี้ ทำให้ปัจจุบันมีผู้อพยพหลายพันสูญหายหรือเสียชีวิตระหว่างการเดินทาง หลายคนยอมถูกคุมขังเพียงเพราะหวังว่า ความเป็นอยู่ในเรือนจำคงเป็นทางออกที่ดีกว่า โดยที่ไม่คำนึงเลยว่า การถูกพรากจากอิสระภาพ ไม่ควรอยู่ในตัวเลือก’

อันตรายและความโหดร้ายที่ผู้อพยพแต่ละกลุ่มต้องเจอ อาจขึ้นอยู่กับเชื้อชาติ ศาสนา และสถานการณ์ในแต่ละประเทศ ทำให้แรงปะทะของแต่ละพื้นที่ มีดีกรีที่ต่างกันออกไป

เมื่อพิจรณาสถานการณ์และนโนบายการเมืองเพื่อรองรับผู้อพยพในปัจจุบัน คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) ได้จำกัดคำอธิบายกว้างๆ ของคนที่เราให้ความช่วยเหลือ ดังที่กาชาดอังกฤษเคยกล่าวไว้ว่า ‘เมื่อเห็นคนกำลังเดือดร้อน คนทั่วไปให้ความช่วยเหลือกันโดยไม่ต้องถามถึงสัญชาติหรือขอตรวจดูพาสปอร์ต เราหวังจะได้เห็นสิ่งเดียวกันในการปฎิบัติต่อผู้อพยพไม่ว่าจะมาจากไหน และกำลังเดินทางไปที่ใด’ หมายความว่า ICRC ตั้งใจจะให้ความช่วยเหลือกลุ่มคนเหล่านี้ โดยไม่เลือกสถานะ แต่ดูที่ความต้องการของแต่ละบุคคลเป็นที่ตั้ง

ด้วยความตั้งใจที่ว่า ICRC และกลุ่มองค์กรกาชาดในประเทศต่างๆ ได้ริเริ่มทำงานด้านนี้อย่างจริงจัง และพบว่าปัญหาสำคัญของกลุ่มผู้อพยพ คือ 1.ความยากลำบากที่นำไปสู่การสูญหายระหว่างเดินทาง, 2.ผู้เยาว์ที่เดินทางโดยลำพัง, 3.ผู้ลี้ภัยที่ถูกคุมขังในเรือนจำ และ 4.การจัดการข้อมูล

ในหัวข้อเหล่านี้ การสูญหายระหว่างทางเป็นหัวข้อใหญ่ที่ไม่ควรมองข้าม ผู้คนมากมายสูญหายไปในทะเลโดยไม่มีการพบศพ บางส่วนถูกฝังในหลุมศพไร้ชื่อ เด็กและผู้เยาว์มากมายต้องพรากจากพ่อแม่ ความเศร้าของครอบครัวที่รออยู่ข้างหลังโดยไม่ทราบชะตากรรมของผู้เป็นที่รักเป็นความทุกข์ใหญ่หลวงสำหรับทุกฝ่าย เพราะเหตุนี้ ICRC จึงออกข้อแนะนำเกี่ยวกับการติดตามบุคคลสูญหาย เอกสารที่ว่า มีการพูดถึงการสร้างมาตรฐานใหม่ในการติดตามผู้สูญหาย ,แจ้งข่าวแก่ญาติ และการจัดการ (ชันสูตร /ส่งคืน) ร่างของผู้ตายในกรณีที่เสียชีวิต ข้อเสนอแนะเหล่านี้ครอบคลุมถึงความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งในระดับครอบครัว ระดับประเทศและในระดับนานาชาติ

ปัญหาใหญ่ต่อไปที่ต้องอาศัยความร่วมมือและการแก้ไขอย่างจริงจัง คือกลุ่มผู้อพยพที่ยังเป็นผู้เยาว์แต่ต้องเดินทางตามลำพัง เพราะถือเป็นกลุ่มเปราะบางและต้องการความช่วยเหลือที่ทั้งรวดเร็วและมีประสิทธิภาพจากทุกภาคส่วน

เมื่อมีความต้องการมาก การจัดการข้อมูลเพื่อให้งานแต่ละเคสเป็นไปได้อย่างถูกต้องก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องใหญ่ในหน่วยงานด้านมนุษยธรรม ทำอย่างไรให้ข้อมูลที่ได้สามารถทำหน้าที่ได้ดีที่สุด ทำอย่างไรให้ข้อมูลที่ได้ถูกจัดเก็บอย่างปลอดภัยตามนโยบาย ‘do no harm’ และทำอย่างไรให้ข้อมูลเหล่านี้ เป็นตัวช่วยในการนำบุคคลที่พลัดพรากให้ได้กลับมาเจอกัน

งานด้านผู้อพยพมีรูปแบบต่างกันออกไป หนึ่งในนั้นคืองานในเรือนจำ เพราะมีผู้อพยพอีกไม่น้อย ที่ถูกจำกัดเสรีภาพในประเทศที่ไม่รู้จัก ไม่รู้ภาษา หรือไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะมีโอกาสได้ออกไปเมื่อไหร่ คนส่วนนี้อาจถูกจับกุมด้วยเหตุผลต่างกันไป บ้างก็เพราะการหลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย หลายครั้งที่ผู้อพยพตั้งใจโดนจับเพื่อไปใช้ชีวิตต่อในเรือนจำ สิ่งนี้ไม่ควรถูกมองเป็นทางเลือก เพราะการถูกคุมขังมีข้อเสียมาก อาจทำให้เกิดปัญหาทั้งทางสุขภาพและจิตใจ ICRC ให้ความสำคัญในข้อนี้ และมีความร่วมมือกับรัฐในการช่วยกันแก้ปัญหามาโดยตลอด

นอกจากผู้ลี้ภัยตามความเข้าใจปกติ ปัจจุบันเรายังพบการลี้ภัยในรูปแบบต่างออกไป เช่นการลี้ภัยในเมืองที่กำลังมีสงครามภายใน ข้อจำกัดที่ต่างกันไปเหล่านี้ ทำให้ประเด็นเรื่องผู้ลี้ภัยทั้งภายในและระหว่างประเทศ เป็นหัวข้อที่มีความน่าสนใจในหลายแง่มุม เพราะการที่ผู้ลี้ภัยเลือกจะอาศัยในเมืองที่กำลังมีการสู้รบ ทำให้ความต้องการและความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมมีความจำเพาะเจาะจงต่างจากกรณีอื่น
ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การเคลื่อนตัวของประชากรจากที่หนึ่งไปสู่อีกที่ เป็นเรื่องที่มนุษยชาติต้องประสบมาหลายยุคสมัย ในแต่ละช่วงเวลา มาตรการและการยอมรับก็มีความแตกต่างกันไป ผลกระทบและการรับมือจึงไม่ตกอยู่แค่กลุ่มผู้ลี้ภัยหรือประชากรผลัดถิ่นเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงกลุ่มผู้อยู่อาศัยเดิมที่ต้องปรับตัวเพื่อต้อนรับประชากรกลุ่มใหม่ในอีกทางหนึ่งด้วย

อีกหนึ่งประเด็นน่าศึกษา คือการหาคำตอบว่าทำไมประชากรเหล่านี้ถึงตัดสินใจละทิ้งบ้านเพื่อตามหาอนาคตในแผ่นดินที่ไม่รู้จัก เป็นที่ทราบกันดีว่าเหตุผลหลักของการย้ายถิ่นคือความขัดแย้งในพื้นที่ แต่ถ้าเรามองให้ลึกลงไปถึงปัจจัยในแบบแยกส่วน เพื่อค้นให้เจอว่าอะไรกันแน่คือตัวเร่งให้เกิดการตัดสินใจเหล่านี้ นี่อาจเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ช่วยให้เราเข้าใจและตอบสนองความต้องการของประชากรกลุ่มนี้ได้ดีขึ้น เพราะแม้ว่ากฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (International Humanitarian Law -IHL) จะให้ความคุ้มครองประชากรในพื้นที่ขัดแย้ง แต่ผู้คนส่วนใหญ่ก็เลือกที่จะย้ายตัวเองออกจากพื้นที่ปัญหา มากกว่าจะรอดูว่ากฎหมายจะสามารถปกป้องผลกระทบที่อาจตามมาได้แค่ไหน

ธรรมชาติของสงครามตามมาด้วยความรุนแรง ความเสียหายอาจไม่ตกที่ประชาชนโดยตรง แต่ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ กระทั่งโอกาสทางการศึกษาหรือหาอาชีพ ก็มักมลายหายไปท่ามกลางไฟสงคราม อย่างนั้นการบังคับใช้กฎหมายมนุษยธรรม หรือการเคารพกฎแห่งสงครามอาจเป็นทางออกที่ดี เป็นการตัดไฟแต่ต้นลม ไม่ให้การอพยพกลายเป็นทางเลือกเพียงทางเดียวของปัญหา และถ้าเป็นอย่างนั้น จะเป็นไปได้หรือไม่ที่ความเข้าใจและการปฎิบัติตามกฎหมายจะมีผลต่อขยายโดยตรงต่อการเคลื่อนย้ายของประชากรในแต่ละภูมิภาค และอาจเป็นทางออกใหม่ที่ตรงประเด็นกว่าการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมทั่วไป ที่เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายน้ำ

แปลจากบทความต้นฉบับ MIGRATION AND DISPLACEMENT: HUMANITY WITH ITS BACK TO THE WALL โดย Vincent Bernard