ในโลกทุกวันนี้ปัญหาเรื่องผู้ลี้ภัยกลายเป็นเรื่องใหญ่ในระดับนานาชาติ ไม่ใช่แค่การลี้ภัยจากสงครามหรือความขัดแย้ง แต่ยังรวมไปถึงกลุ่มแรงงานต่างชาติที่เดินทางออกจากบ้านเกิดเพราะปัญหาด้านเศรฐกิจ หลายคนอพยพจากภูมิลำเนาเพราะขาดโอกาสทางการศึกษา ไม่มีงานทำ หรือไม่สามารถเข้าถึงบริการทางสุขภาพขั้นพื้นฐาน

ความคิดเรื่อง ‘เอลโดราโด (El Dorados)’ มีอยู่ทุกสมัย และไม่ใช่ความผิดที่หลายคนฝันถึงชีวิตที่ดีกว่าในมหานครใหญ่อย่าง นิวยอร์ก หรือ ลอนดอน ในช่วงทศวรรษที่ 1990s มีคลื่นผู้อพยพจากอิตาลี โปแลนด์ และ ไอร์แลนด์ ถาโถมเข้าสู่สหรัฐฯ เพื่อขานรับความฝันเรื่อง ‘อเมริกันดรีม – American dream’ หมายถึง โอกาสในการแสวงโชค สร้างฐานะ ในแผ่นดินแห่งโอกาสและเสรีภาพ

แต่หลายครั้ง เทพนิยายก็ไม่กลายเป็นความจริง เพราะแม้สหรัฐฯ จะถูกฉาบไว้ด้วยภาพลักษณ์แห่งเสรีภาพ แต่นักประวัติศาสตร์ก็ไม่อาจมองข้ามความจริงว่า บรรดาผู้อพยพ ยังต้องเจอการกีดกันทางสังคมและข้อจำกัดทางกฎหมายมากมายแบบที่หลายคนอาจคาดไม่ถึง

หันกลับมาที่ทวีปยุโรป เป็นเวลายาวนานที่แผ่นดินนี้เต็มไปด้วยการเข้าออกของผู้คนหลายเชื้อชาติ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุโรปกลายเป็นปลายทางหลักของผู้ลี้ภัยหลายล้านที่หลั่งไหลเข้ามาหลังการล่มสลายของลัทธิล่าอาณานิคม ยุโรปในตอนนั้นเพิ่งฝื้นตัวจากสงคราม ขาดทั้งเงินและแรงงาน (เพราะเสียประชากรจำนวนมากไปกับการรบ) จึงต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติ ในการสร้างและฟื้นฟูบูรณะประเทศ แรงงานส่วนใหญ่ในตอนนั้น ก็มักนำเข้ามาจากอดีตประเทศอาณานิคมในเอเชียและแอฟริกา

ผู้ลี้ภัยในอิรัก

ตัดภาพมาที่ปัจจุบัน การเป็นเจ้าบ้านไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเทศปลายทางต้องรองรับการไหลบ่าของประชากรจำนวนมาก ที่ต้องพึ่งพาทั้งระบบสาธารณูปโภค สาธารณสุข และสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานอีกมาก ยังไม่นับปัญหาทางสังคมอีกที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการพบปะสังสรรค์ทางวัฒนธรรม ถ้าเป็นอย่างนั้น เราควรเปิดประตูกว้าง หรือ สร้างกำแพง? เราควรให้ความช่วยเหลือผู้เดือดร้อน รับเขาเข้ามาในประเทศในทันที หรือควรให้พวกเขารอสักพักและให้ที่พักอาศัยในค่ายผู้ลี้ภัยอย่างในกาซ่า เลบานอน จอร์แดน ฯลฯ ? ไม่แน่ว่าเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย พวกเขาเหล่านี้อาจได้กลับบ้านเกิดเมืองนอน แทนที่ต้องเดินทางมาไกลเพื่อสร้างชีวิตใหม่ในประเทศที่แทบไม่รู้จัก

เมื่อเวลาผ่านไป ภาพลักษณ์ของการลี้ภัยก็กระอักกระอ่วนและสับสน หลายประเทศไม่กล้าเปิดรับผู้ลี้ภัยในทันที แต่สร้างค่ายลี้ภัยขึ้นแทนที่เพื่อรองรับปัญหาเฉพาะหน้า ในหลายประเทศ ค่ายผู้ลี้ภัยถูกสร้างขึ้นอย่างเร่งรีบโดยไม่มีการวางแผนและการจัดการที่ดีพอ ส่งผลต่อมาให้เกิดปัญหาทั้งด้านสังคมและมนุษยธรรม ผู้ลี้ภัยในหลายพื้นที่ได้แต่อยู่ไปวันๆ โดยพึ่งพาความช่วยเหลือขององค์กรระหว่างประเทศ ไม่กล้าคิดไปกว่านั้นว่าจะมีอนาคตที่ดีกว่า เพราะมองไม่เห็นว่าจะได้เดินหน้าไปประเทศใหม่หรือกลับไปภูมิลำเนาเมื่อไหร่แน่

ผู้ลี้ภัยจากความขัดแย้งในยะไข่ ประเทศเมียนมา

ทุกวันนี้ ‘การจัดการ’ ด้านผู้ลี้ภัย ยังเป็นปัญหาใหญ่ที่คลุมเคลือ European Union’s Frontex เป็นหนึ่งในหน่วยงานสำคัญที่เข้ามาดูแลประเด็นดังกล่าว ข้อตกลงหลายอย่างที่เกิดขึ้น สามารถช่วยเหลือชีวิตของผู้ลี้ภัยจำนวนมากและมอบโอกาสที่ดีกว่าให้หลายชีวิต อย่างไรก็ดี ความคิดริเริ่มต่างๆ มักคิดกันออกมาในภาวะฉุกเฉิน ถือเป็นมาตรการที่ออกแบบมาเพื่อรองรับปัญหาด้าน ‘มนุษยธรรมเป็นที่ตั้ง’ ปัจจุบันมีทั้งการจัดตั้ง ‘พื้นที่กันชน buffer zone’ รอบบริเวณชายแดนของประเทศที่สอง หรือมีการจัดการเพื่อส่งออกผู้ลี้ภัย ไปเป็นแรงงานในประเทศที่สามเพื่อกระจายคนออกจากพื้นที่แออัด และเป็นทางเลือกใหม่ให้ใครหลายคนมีอาชีพและสามารถเริ่มชีวิตด้วยตนเอง

นายปีเตอร์ เมาเร่อ ประธานคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า ‘เราจำเป็นต้องสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐ เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ลี้ภัยสามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างปลอดภัยและเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ผู้คนเหล่านี้ ไม่ควรถูกลงโทษเพียงเพราะตัดสินใจออกจากชุมชนเดิม เราต้องตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจว่าการดำเนินการด้านความปลอดภัยต่างๆ เป็นไปตามหลักกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ’

เมื่อผู้อพยพชาวต่างชาติสามารถตั้งถิ่นฐานในชุมชนใหม่ อีกหนึ่งปัญหาที่เราต้องใส่ใจคือ ความเป็นไปได้ที่คนสองกลุ่ม (กลุ่มคนใหม่และเจ้าของชุมชนเดิม) จะสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยเคารพความต่างทางภาษา ศาสนา และวัฒนธรรม พวกเขาจะสามารถคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมเดิม หรือถูกหลอมรวมเข้ากับชุมชนใหม่ตามแนวคิด melting-pot (ลักษณะทางสังคมใดสังคมหนึ่งซึ่งประกอบไปด้วยผู้คนจากหลากหลายเชื้อชาติอยู่ร่วมกัน)

ผู้ลี้ภ้ยในซีเรีย

ในโลกปัจจุบัน การยอมรับและให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มใจกลายเป็นเรื่องไร้เดียงสาและอันตราย เพราะหากพิจรณาปัจจัยรอบข้างให้ดี จะพบว่าการเข้ามาของผู้ลี้ภัย อาจนำมาซึ่งปัญหามากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความไม่ไว้วางใจ ความขัดแย้งด้านตัวตน (identity) หรือการก่อตัวของลัทธิการโดดเดี่ยว (คนต่างชาติเหล่านี้อาศัยแยกกันแบบต่างคนต่างอยู่ตามสังคมวัฒนธรรมของตน)

เมื่อเวลาผ่านไป การก่อการร้ายและวิกฤตทางเศรฐกิจได้ทิ้งรอยแผลร้ายยากจะเยียวยา ผู้คนในสังคม กระทั่งรัฐบาลไม่อาจมองเห็นผู้อพยพเป็นโอกาสทางเศรฐกิจ (เช่นโอกาสในการเพิ่มแรงงานคนหนุ่มเพื่อทดแทนสังคมสูงอายุ) หรือเพื่อเห็นแก่ความเป็นหนึ่งเดียวของประชาคมโลก (a duty of solidarity) มุมมองต่อผู้ลี้ภัยกลายเป็นภัยคุกคามต่อทั้งความปลอดภัยและความเป็นหนึ่งเดียวของรัฐ ในบางครั้ง ผู้คนที่หลบหนีความรุนแรงไม่ได้ถูกมองเป็นผู้เสียหาย (victims) แต่กลายเป็นอันตรายที่แฝงอยู่ในรูปแบบการก่อการร้าย

อย่างไรก็ดี ในมุมกฎหมายหรือศาสนา การต้อนรับผู้ลี้ภัยเป็นเรื่องของ ‘ความเห็นทางการเมือง’ (political opinion) กระนั้น ก็ต้องใช้ความกล้าเป็นอย่างมากที่จะพูดออกมาดังๆ อย่าง ที่แองเกล่า มาร์เกล นายกรัฐมนตรีของเยอรมัน เคยกล่าวไว้ในวันที่ 31 สิงหาคม 2015 ว่า ‘เราทำได้’ (Wir shaffen das – We can do it)

แปลจากบทความต้นฉบับ MIGRATION AND DISPLACEMENT: HUMANITY WITH ITS BACK TO THE WALL โดย Vincent Bernard