การดูแลฝูงปศุสัตว์ให้มีสุขภาพดีช่วยให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตัวเองได้ “ในประเทศที่มีความขัดแย้ง คุณต้องเตรีมพร้อมที่จะอพยพตลอดเวลา การเลี้ยงสัตว์ตอบโจทย์ข้อจำกัดที่ว่า เพราะมีความคล่องตัวสูงกว่าไม่เหมือนการทำเกษตรกรรม”  Ada Jacobsen ผู้เชี่ยวชาญด้านปศุสัตว์ของ ICRC กล่าวระหว่างการจัดกิจกรรมฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้ฝูงสัตว์ในหุบเขา Maura Hills

“ถ้าไม่มีปศุสัตว์เป็นของตัวเอง ก็เหมือนคุณไม่ใช่ชาวซูดานใต้ ” Joseph Tongun Philimon สัตวแพทย์ของ ICRC กล่าวเสริม ปศุสัตว์ที่มีสุขภาพดียังสามารถช่วยลดความตึงเครียดระหว่างชนเผ่า ในทางตรงข้าม หากฝูงสัตว์ป่วยไข้หรือเป็นอันตราย นั่นอาจหมายถึงความมั่นคงของของเผ่าด้วยเช่นกัน

ปัจจุบัน ICRC กำลังทำงานร่วมกับชุมชนต่างๆ ทั่วซูดานใต้ หนึ่งในนั้นคือชนเผ่าเร่ร่อน Fallata “เราแต่งตัวแบบนี้เพื่อความงามเพราะนี่เป็นวัฒนธรรมของเรา” Kadija คุณยายและผู้อาวุโสของเผ่า Fallata กล่าว Halima และ Yeda สาวน้อยทั้งสองในภาพกับสมาชิกที่เหลือของเผ่า เดินทางไปมาระหว่างทุ่งหญ้ากว้างใหญ่พร้อมกับฝูงวัวและแกะของพวกเขา

โครงการปศุสัตว์ของ ICRC มีความท้าทายใหญ่คือการรักษาวัคซีนไว้ในที่เย็นเพื่อรักษาคุณภาพของตัวยา เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ในซูดานใต้มีข้อจำกัดด้านไฟฟ้า จึงต้องพึ่งความช่วยเหลือจากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ (solar panels) และเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (generators) ทำให้สามารถเก็บวัคซีนไว้ได้ภายใน 4-5 วันในกล่องเย็น

เฉพาะเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมที่ผ่านมา มีวัวราว 50,000 ตัว รวมถึงแกะและแพะอีกราว 10,000 ในพื้นที่รัฐ Upper Nile ของซูดานใต้ที่ได้รับการฉีดวัคซีน โครงการนี้ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องในหลายๆ พื้นที่ ทีมวัคซีนของ ICRC ออกเดินทางตั้งแต่เช้าเข้าไปยังที่ตั้งฝูงสัตว์ในพื้นที่ห่างไกล

“ผมได้เรียนรู้เกี่ยวกับตัวยาและผลการรักษาที่แตกต่างกันไป บางครั้งยังได้รับสินน้ำใจเล็ก ๆ จากเจ้าของฝูงสัตว์เมื่อเราเข้าไปให้วัคซีน ผมภูมิใจมากที่ได้เป็นส่วหนึ่งของกิจกรรมนี้ เพราะวัคซีนจาก ICRC ทำให้ฝูงสัตว์มีสุขภาพดีขึ้น” Issa Usman (กลาง) กล่าว

กิจกรรมของ ICRC ตั้งอยู่บนมาตรฐานสำคัญ 3 ข้อ หนึ่งคือ ถือว่าปศุสัตว์เป็นสินทรัพย์ที่มีเสถียรภาพและมีสถานะเป็น “บัญชีธนาคารเคลื่อนที่” คนส่วนใหญ่เลี้ยงปศุสัตว์และขายเพื่อแลกเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นเช่น ค่าเล่าเรียน หรือค่าอาหาร สองคือมาตรฐานการใช้ชีวิตและการยอมรับทางสังคม ยกตัวอย่างเช่นการแต่งงานในซูดานใต้ ต้องมีการจ่ายค่าสินสอดเป็นวัว 10 ถึง 100 ตัว สามคือเรื่องความมั่นคงทางอาหาร เพราะเด็กส่วนใหญ่ยังพึ่งพานมแพะเป็นแหล่งอาหารหลัก

“เราใช้อูฐเป็นพาหนะในการขนส่ง” Issa อธิบาย เขาเป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่สาธารณสุขชุมชนที่รับผิดชอบการรักษาร่วมไปถึงโครงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคในฝูงสัตว์ Issa และเพื่อนร่วมงานไม่เพียงทำงานร่วมกับชุมชน แต่ยังได้รับการฝึกฝนเป็นพิเศษจากทีมสัตวแพทย์ของ ICRC เพื่อให้สามารถปฎิบัติหน้าที่ได้ตามมาตรฐานสากล

ทศวรรษของความขัดแย้งยังคงบ่อนทำลายระบบสัตวบาลในซูดานใต้ เพิ่มความเสี่ยงให้การเกิดโรคระบาดและปัญหาสุขภาพตามมามากมาย การล้มตายของฝูงสัตว์ส่งผลกระทบสำคัญทั้งในแง่การผลิตและการดำรงชีวิต นี่เป็นเหตุผลให้งานด้านสัตวบาลในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา เป็นหนึ่งในงานที่ ICRC ให้ความสำคัญ

 

ICRC กำลังทำงานร่วมกับกระทรวงเกษตร ทรัพยากรสัตว์และประมง (Ministry of Agriculture and Animal Resources and Fishing – MAARF) เพื่อให้การฝึกอบรมแก่ “เจ้าหน้าที่สาธารณสุขชุมชนด้านสัตวบาล” ที่ทำงานร่วมกับชุมชนในการรักษาสัตว์และดำเนินการโครงการฉีดวัคซีนป้องกันโรค ในบางแห่งสัตว์เลี้ยงจะถูกส่งโดยตรงเพื่อรีบวัคซีนโดยเฉพาะ

“เรารับรู้เรื่องโรคมากมายในสัตว์ตั้งแต่ยังเด็ก เพราะไม่ว่าจะไปไหน เรามักมีฝูงสัตว์ติดตามไปด้วยเสมอ ดังนั้นตอนที่ ICRC เข้ามา พวกเราจึงรู้สึกยินดีมาก ที่จะได้เห็นโรคของสัตว์ที่เห็นมานานได้รับการรักษาให้หายเสียที และเมื่อพวกสัตว์มีสุขภาพดี พวกมันก็จะผลิตน้ำนมได้มากขึ้น ” Osman Bello อธิบาย

ระหว่างกำลังเตรียมที่นอนสำหรับคืนนี้ Hawa Ahmad ก็เล่าให้เราฟังว่า “การฉีดวัคซีนเป็นเรื่องสำคัญเพราะมันทำให้เราเห็นสัตว์ของเราแข็งแรงและอ้วนท้วน เราสามารถเห็นความแตกต่างชัดเจนในฝูงสัตว์ก่อนและหลังได้รับวัคซีน เพราะหลังได้รับยา ผิวหนังของพวกมันก็เป็นมันวาวดูสวยงามสุขภาพดี ฉันคิดว่ามันเป็นเรื่องดีที่สุด ที่พวกมันได้รับการรักษาจากยาที่มีคุณภาพ“