ทุกวันนี้มีครอบครัวจำนวนไม่น้อยในพื้นที่ภาคใต้ที่ประสบปัญหาขาดเสาหลักของครอบครัวและโอกาสในการประกอบอาชีพ ICRC ในฐานะที่เป็นองค์กรด้านมนุษยธรรมเข้าใจถึงความจำเป็นในการส่งเสริมและฟื้นฟูความเป็นอยู่ของผู้ประสบปัญหาให้กลับมามีรายได้เพียงพอต่อการใช้ชีวิตและดูแลสมาชิกในครอบครัว และมองเห็นศักยภาพของกิจกรรมสร้างรายได้ให้กับครัวเรือนด้วยการให้ทุนสนับสนุนภายใต้โครงการส่งเสริมอาชีพ หรือที่เรียกว่า Micro Economic Initiative (MEI) พี่มีนา หนึ่งในผู้ร่วมโครงการได้เล่าให้เราฟังถึงประสบการทำงานร่วมกับ ICRC หลังสามีเสียชีวิตเธอต้องสลับบทบาทมาเป็นเสาหลักหารายได้ส่งเสียเลี้ยงดูลูกๆ ทั้ง 9 คนเพียงลำพัง  ‘ตอนสามีเสียชีวิตเมื่อปี 2552 ที่จังหวัดยะลา เรามีลูกหลายคนต้องดูแล ลูกสองคนสุดท้ายที่เป็นแฝดก็ยังเล็กมาก ไม่มีงาน ไม่มีเงิน ไม่มีบ้าน ไม่มีอะไรเลย แต่เราก็พยายามทำทุกอย่างเพื่อลูก พยายามสู้ให้ลูกได้เรียน ไปขายข้าวแกงในตลาด ขายเช้า ขายกลางวัน ขายกลางคืน ไม่ได้หยุดเลยสักวัน จนเพื่อนแถวบ้านมาชวนให้ลองไปเข้าร่วมโครงการกับ ICRC’

‘ตอนแรกก็ไม่คิดว่าจะได้รับการสนับสนุน แต่หลังจากทีมงาน ไปเยี่ยมบ้าน เพื่อสำรวจและประเมิน พอเราเสนอไปว่าจะทำข้าวเกรียบ ทำลูกหยี ทางนี้ก็ให้เงินสนับสนุนกับอุปกรณ์มาสามอย่างคือ หม้อ เครื่องตัดข้าวเกรียบ ที่นวดแป้ง เราก็มาทำขาย จากที่ขายได้เรื่อยๆ ตอนนี้กลายเป็นรายได้หลักของครอบครัว สามารถส่งลูกเรียนได้และเริ่มมีเงินเก็บ’ พี่มีนา เล่าให้เราฟังถึงชีวิตก่อนและหลังได้ร่วมงานกับ ICRC ตอนนี้กิจการขายข้าวเกรียบและลูกหยีกำลังไปได้ดี จนเจ้าตัววางแผนจะเริ่มทำสินค้าใหม่เป็นสับปะรดกวนออกมาลองขาย พี่ปลาก็เป็นสมาชิกอีกคนหนึ่งที่สามารถข้ามผ่านช่วงเวลายากลำบากในชีวิต กลับมามีความมั่นคงจนสร้างรายได้จุนเจือครอบครัวด้วยสองมือของตัวเอง

‘ตอนปี 2550 สามีเสียชีวิต ลูกเราก็ยังเล็กมาก พอ ICRC ติดต่อมาว่าใกล้จะถึงคิวแล้วให้เราเข้าไปสัมภาษณ์ เราก็เริ่มมีความหวังขึ้นมา หลังจากเข้ามารับคำปรึกษาอีกหลายรอบ เราก็ได้เข้าร่วมโครงการในที่สุด’ ‘เราเลือกขายหมี่เบตง ผงหมักไก่ทอดหาดใหญ่ และเฉาก๊วยกระป๋อง เพราะเป็นของขึ้นชื่อของภาคใต้ ขายตามงานบ้าง มีคนโทรมาสั่งบ้าง จากไม่มีเงินเลยตอนนี้ก็มีเงินพอส่งเสียลูก นำมาหมุนทำธุรกิจต่อได้’ พี่ปลาเล่าให้เราฟังอย่างภาคภูมิใจ ธุรกิจของเธอทำกำไรได้ดีพอสมควร ยิ่งช่วงไหนมีโอกาสได้ออกบูธตามงาน กำไรต่อวันจากหลักร้อยอาจเพิ่มเป็นหลักพันได้ง่ายๆ นอกจากกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรงแล้ว ICRC ยังให้การสนับสนุนกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อม ‘สีมายา’ ธุรกิจเล็กๆ ที่สร้างรายได้และความภาคภูมิใจให้กับชุมชนชาวหน้าถ้ำ จังหวัดยะลา ด้วยภูมิปัญญาและทรัพยากรที่หาได้ในท้องถิ่น

‘การที่ ICRC เข้ามา ถือเป็นกำลังใจที่มีค่ามากๆ อย่างน้อยก็มีคนเห็นว่าเราทำงานตรงนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเข้ามาให้ความช่วยเหลือแบบไหนก็ตาม แต่การที่เขามาหาและเอาความรู้ ประสบการณ์ใหม่ๆ มามอบให้ ทำให้ทางกลุ่มรู้ว่าถึงจะอยู่ไกลถึงยะลา แต่พวกเราก็ไม่ได้ถูกทอดทิ้ง’ เนาวรัตน์ น้อยพงษ์ ประธานกลุ่มสีมายา เริ่มบทสนทนาด้วยความประทับใจที่มีให้ ICRC ก่อนกล่าวต่อไปว่า กลุ่มสีมายาเริ่มมาจากความรักของชุมชน ที่อยากจะทำอะไรดีๆ ให้กับหมู่บ้าน เพราะแม้จังหวัดยะลาจะไม่สามารถทำรายได้จากการท่องเที่ยวได้เหมือนก่อน แต่ทรัพยากรและความสามารถของชาวบ้าน ก็สามารถสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับชุมชน

‘ICRC ติดต่อไปทางกลุ่ม สอบถามว่าเราขาดเหลือหรือต้องการให้ช่วยด้านไหนบ้าง เราก็ปรึกษากันว่าที่ขาดที่จำเป็นก็เห็นจะเป็นอุปกรณ์อย่าง ผ้ากับเตาไฟ เพื่อใช้ต่อยอดการผลิตให้มากขึ้น’ ปัจจุบันทั้งชาวบ้านกลุ่มสีมายา พี่มีนา และพี่ปลาสามารถมีรายได้ยั่งยืนโดยไม่ต้องกู้ยืมหรือใช้คืน จนถึงตอนนี้ ICRC ก็ยังติดตามและให้ความช่วยเหลือด้านการตลาดอยู่เป็นระยะ เช่นการออกบูธในงานมูลนิธิแม่บ้านไทยมุสลิมระหว่างวันที่ 10-12 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา

‘ความท้าทายของเราคือการขยายผลทางการตลาดให้ชาวบ้านในโครงการ ทำอย่างไรให้เขาสามารถสร้างมูลค่าให้สินค้า พัฒนาบรรจุภัณฑ์ ขยายฐานการผลิตให้มากขึ้น ตลอดจนรักษาคุณภาพสินค้า’ ‘การมาออกงานแบบนี้ก็เป็นการเปิดตลาดใหม่ๆ ได้มาเห็นสินค้าของคนอื่นเขา เราก็เกิดไอเดียในการพัฒนาสินค้าของตัวเองให้ตรงกับความต้องการของตลาด เช่นจากที่เคยทำแต่ผ้าละหมาดก็สามารถขยับมาทำผ้าปูโต๊ะลายปักด้วยมือ ซึ่งลูกค้าที่นี่มักจะถามหา สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความรู้และเพิ่มประสบการณ์เช่นเดียวกัน’ ฟัยอล เจ้าหน้าที่ภาคสนามของ ICRC กล่าวทิ้งท้าย’ ในจำนวนผู้ที่ได้รับการสนับสนุนจาก ICRC ทั้งหมด ยังมีอีกหลายคนที่อยู่ระหว่างการฝึกอบรมพัฒนาทักษะทางวิชาชีพ หลายคนอยู่ระหว่างการทดลองนำสินค้าออกจัดจำหน่าย และอีกหลายๆ คนกำลังมองหาลู่ทางเพื่อเพิ่มยอดขาย ขยายฐานสินค้า กระทั่งมองหาที่ทางเพื่อสร้างร้านเล็กๆของตัวเอง นับเป็นสิ่งเล็กๆที่ ICRC สามารถทำได้เพื่อช่วยให้ผู้คนและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบในภาคใต้ มีกำลังใจและกลับมายืนด้วยลำแข้งของตัวเองอีกครั้ง เหล่านี้จะนำไปสู่ความยั่งยืนของอาชีพต่อไปในอนาคต