ด้วยการสนับสนุนจากสำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ UNOCHA คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ ICRC และสหพันธ์กาชาดและเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ IFRC จึงได้จัดทำ คู่มือในการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อช่วยเหลือผู้คนที่ได้รับผลกระทบในภาวะวิกฤต โดยคู่มือฉบับนี้มุ่งเน้นไปที่กลุ่มพนักงานที่รับผิดชอบดูแลช่องทางโซเชียลมีเดียให้กับองค์กรที่ทำงานด้านมนุษยธรรม

“ทุกวันนี้มีผู้คนมากกว่า 3 พันล้านคนที่ใช้โซเชียลมีเดียในการติดต่อสื่อสาร ในจำนวนนี้หมายรวมถึงบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติและภัยจากการสู้รบ นับวันจำนวนของผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตในรูปแบบต่างๆได้ใช้ช่องทางเหล่านี้ในการค้นหาและแบ่งปันข้อมูลที่สำคัญและจำเป็น”
ชาร์ล็อตต์ ลินซี่ย์ เคอร์เล็ต ผู้อำนวยการด้านการสื่อสารและข้อมูลของ ICRC กล่าว “หากเราต้องการได้ข้อมูลและปรับการรับรู้ เราก็จำเป็นที่จะต้องพึ่งพาการสื่อสารออนไลน์มากขึ้น”

ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่เกิดเฮอร์ริเคนพัดถล่มสหรัฐฯและแถบทะเลแคริบเบียนหรือวิกฤตการอพยพลี้ภัยทั่วโลก เฟสบุคและทวิตเตอร์ยังคงเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับการทำงานในด้านมนุษยธรรมเพราะช่องทางสื่อสารเหล่านี้เปิดโอกาสให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งในท้องถิ่นและระดับสากลสามารถร่วมมือในการทำงานด้านบรรเทาทุกข์และช่วยชีวิตผู้คนได้ทันท่วงที ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือชุมชนที่ได้รับผลกระทบได้ใช้ช่องทางเหล่านี้เพื่อตามหาญาติพี่น้องที่พลัดพราก ขอความช่วยเหลือและยังเป็นเวทีร้องเรียนและสะท้อนกลับถึงความช่วยเหลือที่พวกเขาได้รับอีกด้วย

“ในช่วงชุลมุนวุ่นวายที่มักเกิดหลังจากหายนะภัยหรือภาวะวิกฤต ช่าวลือและข่าวปลอมจะถูกเผยแพร่ไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมันไม่มีที่อยู่ที่ให้ตามหาได้ดังนั้นมันจึงบั่นทอนความเชื่อมั่นที่มีต่อองค์กรที่ทำงานด้านมนุษยธรรมและยังทำให้เกิดอันตรายต่ออาสาสมัครและเจ้าหน้าที่อีกด้วย อย่างไรก็ตามการใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารหลังเกิดภาวะฉุกเฉินก็สามารถทำให้เราเข้าใจถึงความวิตกกังวลของผู้คน เราได้เห็นข่าวที่พวกเขาแชร์และนั่นช่วยให้เราสามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้คนได้อย่างแน่นอน แม่นยำ และประสานงานกันอย่างดี”
ด็อคเตอร์เจมิลา มามูด รองเลขาธิการด้านความร่วมมือของ IFRC กล่าว

อย่างไรก็ตามทุกวันนี้องค์กรด้านมนุษยธรรมใช้โซเชียลมีเดียเพื่อเชื่อมโยงและสื่อสารกับผู้คนที่ได้รับผลกระทบที่ยากจะเข้าถึงแต่กลับไม่ได้พูดถึงความเป็นไปหรือสภาพความเป็นอยู่ของพวกเขา ดังนั้นเอกสารฉบับนี้จึงถูกออกแบบมาเพื่อพูดถึงสิ่งที่ขาดหายไปเหล่านั้น

“เราเชื่อว่าการเข้าถึงชุมชนเป็นส่วนสำคัญในการทำงานด้านมนุษยธรรมและยิ่งผู้คนในโลกให้ความสำคัญกับโซเชียลมีเดียในการหาข้อมูลและแสวงหาความช่วยเหลือมากยิ่งขึ้นเท่าไหร่ เจ้าหน้าที่ที่ทำงานด้านมนุษยธรรมก็ต้องยิ่งเข้าไปมีส่วนร่วมในการสนทนานั้นๆให้มากยิ่งขึ้น”

คู่มือฉบับนี้จึงเป็นเสมือนไฟนำทางให้กับองค์กรที่ทำงานด้านมนุษยธรรมในการตอบสนองต่อเสียงเรียกร้องของผู้คนในโลกออนไลน์ แต่ทั้ง ICRC IFRC และ UNOCHA ก็ยังคงเน้นถึงความสำคัญของการสื่อสารสองทางเพราะไม่ใช่ว่าผู้คนที่อยู่ในสภาวะเปราะทางทุกคนจะสามารถเข้าถึงการสื่อสารบนโลกออนไลน์ได้

ดาวน์โหลดคู่มือการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อช่วยเหลือผู้คนที่ได้รับผลกระทบในภาวะวิกฤตได้ที่นี่ (ภาษาอังกฤษ)