ทุกวันนี้มีผู้หญิงจำนวนมากที่ทำงานและให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในทั่วทุกมุมโลก ทั้งเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือ ความขัดแย้งและสงคราม ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดการอุทิศตนของผู้หญิงเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีคุณค่ายิ่งสำหรับ คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ วันสตรีสากลในปีนี้จึงเป็นโอกาสที่ดีเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความกล้าหาญและความมานะอุตสาหะของผู้หญิงเหล่านี้ คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ ประจำประเทศไทย จึงได้พูดคุยกับผู้หญิงที่ทำงานอยู่ในครอบครัวกาชาดและเสี้ยววงเดือนแดง 3 คน เกี่ยวกับเรื่องราวที่น่าประทับใจในการทำงานและในฐานะที่เป็นผู้หญิงที่ได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับเพื่อนผู้หญิงทุกคน

ผู้หญิงท้อได้ แต่ห้ามถอย

เรื่องราวของ คุณกุริมา จันทร์แก้ว ผู้ตรวจการพยาบาล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ต้องย้อนกลับไปเมื่อ 27 ปีที่แล้ว ตั้งแต่ที่เธอตัดสินใจเข้ามาเป็นนักเรียนพยาบาลของสภากาชาดไทยจากแรงผลักดันของคุณแม่ที่เห็นความสำคัญของการเป็นพยาบาลและความผูกพันธ์ที่มีกับสภากาชาด หลังจากศึกษาจบคุณกุริมาได้ทำงานอยู่ในหลายหน่วยงานของโรงพยาบาลจุฬาฯ แต่เหตุการณ์ที่เธอประทับใจมากที่สุดคือการได้ไปออกหน่วยแพทย์ผ่าตัด ตา หู คอ จมูกเคลื่อนที่เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากสงครามเขมรแดง ที่เขาอีด่าง ตั้งแต่ผ่าตัดเล็กๆ ไปจนถึงเหตุการณ์บีบหัวใจที่คนไข้ต่อมทอนซิลโตมากจนอาการเข้าขั้นวิกฤติ แต่ก็ผ่านพ้นมาได้ด้วยดี ถึงแม้ว่าภาระหน้าที่ในครั้งนั้นจะทำให้เธอต้องทำงานถึง 7 วันต่อสัปดาห์โดยไม่มีวันหยุด และอาจจะทำให้ท้ออยู่บ้าง แต่คุณกุริมาก็ไม่เคยเหนื่อย เพียงเพราะว่าเธอรักในอาชีพพยาบาลและมีความสุขทุกครั้งที่ได้เห็นคนไข้มีสุขภาพดีและแข็งแรงขึ้น

“ดิฉันมาเป็นพยาบาลด้วยความหวังที่จะช่วยเหลือผู้คน และ ทำประโยชน์ให้กับสังคม การเป็นพยาบาลสอนดิฉันเป็นคนซื่อสัตย์ อดทน และมีปฎิภาณไหวพริบ ในฐานะที่เป็นผู้หญิงไทยคนหนึ่ง ดิฉันรู้สึกภูมิใจที่ได้ทำความฝันสำเร็จและจะเดินหน้าช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ต่อไป” คุณกุริมา กล่าว

จากพยาบาลภาคสนาม สู่ตำแหน่งผู้ตรวจการที่คอยอบรมพยาบาลรุ่นน้อง คุณกุริมาจึงเป็นตัวอย่างของผู้หญิงที่ทำงานหนักและมุมานะเพื่อความสำเร็จ สุดท้ายคุณกุริมาได้ฝากถึงเพื่อนผู้หญิงทุกคนว่าจงเชื่อมั่นเพราะเรามีสิทธิเท่าเทียมกันทุกคน

 

คุณกุริมาขณะปฏิบัติหน้าที่พยาบาลผู้ช่วยในโรงพยาบาลสนามที่ประเทศภูฏาน

ผู้หญิงต้องเก่งและแกร่งขึ้น

คุณรมย์มณี แกล้วทนงค์ เจ้าหน้าที่ดูแลงานด้านการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ จากสหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของผู้หญิงแกร่งและเก่งรอบด้าน หลังจากศึกษาจบคุณรมย์มณีเริ่มจากการเป็นตำรวจจราจรหญิง จนกระทั่งค้นพบตัวเองว่าอยากใช้ความสามารถด้านภาษาที่มีอยู่ประกอบกับใฝ่ฝันที่จะทำงานในองค์กรระหว่างประเทศที่ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ จึงเป็นจุดเริ่มต้นบนเส้นทางสายงานด้านมนุษยธรรม เธอเริ่มจากการทำงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์สึนามิปี  2547 ที่จังหวัดภูเก็ตในโครงการทุนช่วยเหลือเพื่อเด็กที่พ่อแม่เสียชีวิตจากภัยพิบัติ และเป็นผู้ช่วยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศให้ธนาคารเลือดของสภากาชาดไทย จนกระทั่งได้เข้ามาร่วมงานกับสหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศในที่สุด คุณรมย์ณีเล่าว่าการได้ทำงานลงพื้นที่เพื่อช่วยจัดการอบรมความรู้สำหรับการป้องกันภัยพิบัติในโรงเรียนให้แก่เด็กๆ ทั้งในประเทศไทย กัมพูชา เมียนมาร์ และลาว ทำให้เธอมีมุมมองชีวิตที่ต่างออกไป ทำให้ตัวเองแกร่งขึ้น และ ทำให้เธอสามารถปรับตัวได้อย่างดีในทุกๆ เหตุการณ์

« ในฐานะที่เป็นผู้หญิงทำงานเพื่อมนุษยธรรม ประสบการณ์สอนให้ดิฉันเป็นคนที่มีจิตใจอารีและปรับตัวได้ทุกสถานการณ์ การที่ได้เห็นผู้คนและเด็กๆ ที่ประสบภัยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นถือเป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่าที่ไม่อาจลืมได้”
คุณรมย์มณีกล่าว

คุณรมย์ณีได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า ผู้หญิงสมัยนี้เก่งและแกร่งขึ้น สามารถยืนด้วยลำแข้งตัวเองได้ และอยากให้ผู้หญิงเราทุกคนเปลี่ยนทัศนคติที่ว่าผู้หญิงจะต้องเป็นช้างเท้าหลังและลุกขึ้นมาทำตามความฝัน

คุณรมย์มณีพบกับผู้นำชุมชนเพื่อพูดคุยและรับฟังถึงประเด็นปัญหาและขเอเสนอแนะต่างๆเกี่ยวกับโครงการ

ผู้หญิงต้องกล้า ห้ามกลัว

คุณปวิตรา ภูมิศิริสวัสดิ์ เจ้าหน้าที่ฝึกอบรมจากคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ไอซีอาร์ซี) ประจำประเทศไทย คือผู้หญิงที่ได้แสดงให้เราเห็นถึงพลังและความเป็นผู้นำอย่างแท้จริง ด้วยความชอบด้านการสอน คุณปวิตราจึงมุ่งมั่นออกเดินทางในสายงานด้านการฝึกอบรมมาโดยตลอด ตั้งแต่ สภากาชาดอเมริกัน หน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ และไอซีอาร์ซี โดยเธอรู้สึกดีใจและตื้นตันใจทุกครั้งเมื่อเห็นความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการของผู้เข้าร่วมอบรมและได้เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จของคนเหล่านี้ เมื่อไม่นานมานี้คุณปวิตราได้รับโอกาสให้ไปเป็นหัวหน้าแผนกการเรียนรู้และการพัฒนา ที่สำนักงานไอซีอาร์ซี ณ กรุงคาบูล ประเทศอัฟกานิสถาน เป็นระยะเวลา 6 เดือน เธอเป็นผู้หญิงไทยไม่กี่คนที่ได้ไปทำงานในประเทศที่ต้องใช้ชีวิตด้วยความยากลำบาก พร้อมทั้งได้รับตำแหน่งที่ท้าทายเช่นนี้ คุณปวิตราเล่าว่า เธอต้องเจอกับความท้าทายในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการที่ต้องเป็นผู้นำการอบรมให้กับเจ้าหน้าที่ที่มีประสบการณ์ ให้เชื่อในสิ่งที่เธอพูด หรือเรื่องวัฒนธรรมทางสังคมที่แตกต่างกัน และที่หลีกหนีไม่ได้คือเรื่องความปลอดภัยที่ทำให้เธอรู้สึกท้อไปบ้างบางครั้ง ด้วยความที่เธอมีความมั่นใจ เปิดใจ รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น และมองโลกในแง่ดี ทำให้เธอผ่านพ้นความท้าทายเหล่านี้มาได้ พร้อมได้รับคำชมจากผู้เข้าร่วมอบรม อีกทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจและที่ปรึกษาให้กับเพื่อนร่วมงานผู้หญิงชาวอัฟกันอีกด้วย

“การทำงานเป็นผู้ฝึกอบรมนั้นมีความท้าทายมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราเป็นผู้หญิง สำหรับดิฉันแล้ว ความมั่นใจ ความกล้า และ การเปิดใจให้กว้าง เป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้ดิฉันก้าวข้ามอุปสรรคเหล่านี้ไปได้ » คุณปวิตรากล่าว

ทิ้งท้ายสำหรับวันสตรีสากลในปีนี้ คุณปวิตราได้ฝากบอกผู้หญิงไทยทุกๆ คนว่า จงอย่ากลัวเพียงเพราะเราเป็นผู้หญิง และ เราต้องกล้าที่จะทำในสิ่งที่เราคิดว่าถูกต้อง

คุณปวิตราถ่ายภาพร่วมกับผู้เข้าอบรมหลังจากจบคอร์สเรียน

#Womensday #IWD2017 #BeBoldforChange