ฤดูการแข่งขันว่าความศาลจำลองในกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศเริ่มต้นขึ้นอีกครั้งในปีนี้ โดยการแข่งขันจะมีขึ้นใน 4 ประเทศได้แก่ ไทย สปป.ลาว เวียดนามและกัมพูชา จนถึงขณะนี้เราได้ผู้ชนะการแข่งขันว่าความศาลจำลองฯ มาแล้ว 2 ประเทศคือ ตัวแทนจากประเทศไทยและสปป ลาว ซึ่งในโอกาสนี้ทีมงาน ICRC ได้มีโอกาสพูดคุยกับน้องๆที่ชนะการแข่งขันว่าความศาลจำลองฯจากประเทศไทยซึ่งเป็นทีมจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เราจะไปพูดคุยกับน้องๆที่เป็นตัวแทนของทีมกันเลยค่ะ

ขอขอบคุณน้องณัฐธิดา ทวีเจริญสำหรับภาพสวยๆทั้งหมด

ICRC-อยากให้น้องๆช่วยแนะนำตัวด้วยค่ะ

ไอริณ-หนูชื่อไอริณ อิทธิสารรณชัย คณะนิติศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2 ค่ะ
นัทธชาติ-สวัสดีครับ ผมชื่อ “นัทธ์” นัทธชาติ อุไรรงค์ ครับ ปัจจุบันศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 2 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ครับ
ICRC-น้องๆมาเข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้ได้ยังไง มีอะไรเป็นแรงบันดาลใจ และมีการเตรียมตัวก่อนการแข่งขันอย่างไรบ้าง

ไอริณ-หนูเคยทำการแข่งขันศาลจำลองมาก่อนคะ (Wilem C. Vis Moot) เลยอยากลองทำอีกที   ใจจริงไม่ค่อยมาทางกฎหมายอาญา เพราะส่วนตัวชอบกฎหมายแพ่งหรือแนว private law มากกว่า แต่ก็คิดว่าน่าจะลองอะไรใหม่ๆ ก่อนแข่งขันมีการมาเจอกันหลายครั้งมาก ส่วนมากคือไปหาข้อมูลเพิ่มเพื่อเสริมตอนรอบแข่งพูด ส่วนตอนเตรียมตัวก่อนแข่งก็ได้ขอความช่วยเหลือจากอาจารย์กับเพื่อนๆที่เคยทำศาลจำลองมาก่อน

นัทธชาติ-เริ่มมาจากการที่สมาชิกในทีมเราทั้งหมดสามคนเป็นเพื่อนที่สนใจกิจกรรมศาลจำลองหรือ Moot Court ด้วยกัน เรียกว่าที่มารู้จักและเป็นเพื่อนกันได้ก็เพราะ ‘พรหมลิขิต’ ที่เรียกว่า ‘Moot Court’ นี่แหละครับ พอได้ทราบข่าวว่า ICRC จะจัดการแข่งขัน Moot Court กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (International Humanitarian Law: “IHL”) ด้วยความที่กฎหมาย IHL ถือเป็นเรื่อง”ใหม่” สำหรับผมและเพื่อนๆ เป็นเรื่องที่เวลาได้ยินใครพูดถึงแล้ว เราจะนึกภาพในหัวไม่ออก ซึ่งตรงนี้เองครับที่กลายเป็นแรงบันดาลใจ ผลักดันให้เราและเพื่อนๆ ตกลงเข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้

8500

น้องไอริณ น้องนัทธชาติ และน้องวงศ์วิวัฒน์ ผู้ชนะการแข่งขันศาลจำลองฯ ถ่ายรูปร่วมกับคุณคาลิเซียน่า ธีน ที่ปรึกษากฎหมายประจำภูมิภาคของ ICRC

 ICRC- น้องๆคิดอย่างไรกับการเรียนการสอนกฎหมาย IHL ในประเทศไทยในปัจจุบันบ้างคะ

ไอริณ-ส่วนตัวคิดว่าเป็นอะไรที่น่าสนใจและเป็นวิชาที่นักเรียนหลายคนอาจจะชอบ แต่เป็นวิชาที่รู้สึกว่ายังมีวัตถุดิบน้อยมากถ้ามาเทียบกับกฎหมายระหว่างประเทศมหาชน อีกอย่างมันเป็นกฎหมายที่เฉพาะทางมากซึ่งอาจจะนำไปใช้งานได้ค่อนข้างยาก

นัทธชาติ-ในมุมมองของผมนะครับ กฎหมาย IHL แม้จะมีการเรียนการสอนเป็นวิชาที่นักศึกษาสามารถเลือกเรียนได้วิชาหนึ่งในมหาวิทยาลัย แต่ความสนใจของนักศึกษาเองอาจจะไม่ได้มีมากจนกลายเป็นกระแสหลักเหมือนกฎหมายระหว่างประเทศสาขาที่เป็นที่รู้จักอื่นๆ ซึ่งในส่วนนี้ ผมคิดว่าน่าจะมีความเกี่ยวข้องกันกับธรรมชาติหรือลักษณะของกฎหมาย ที่อาจจะไม่ได้ใกล้กับบริบทประเทศไทยมากนัก เมื่อเทียบกับกรณีของประเทศอื่นๆ ที่มีความรุนแรงในลักษณะสงครามเกิดขึ้น เป็นต้น เมื่อเป็นแบบนี้ ผลที่ตามมาในความเห็นผมก็คือ จำนวนบุคคลากรหรือผู้เชี่ยวชาญในสาขากฎหมาย IHL ที่มีไม่มากนักนั่นเองครับ

 

ICRC- น้องๆคิดว่ากฎหมาย IHL มีความสำคัญอย่างไร ทำไมเราจึงควรรู้เกี่ยวกับกฎหมายตัวนี้คะ

นัทธชาติ-ถ้ามองข้ามอุปสรรคด้านพื้นที่ กล่าวคือในภูมิภาคของประเทศไทยที่ไม่ได้มีความรุนแรงมากขนาดที่จะทำให้กฎหมายอยู่ในความสนใจของสังคมมากๆ ผมคิดว่า ถ้ามองตามสุภาษิตที่ว่า “ทุกวิกฤติล้วนมีโอกาส” การที่กฎหมาย IHL กำลังอยู่ในระหว่างทางของการเป็นที่รู้จักทั่วไปในวงวิชานิติศาสตร์ไทย ตลอดจนการที่บุคลากรผู้เชี่ยวชาญยังมีน้อยอยู่นั้น แม้จะยังไม่ถึงขั้นวิกฤติ แต่ในทางหนึ่ง ก็ยิ่งเป็นการ “เน้น” ความสำคัญของกฎหมายตัวนี้ให้หนักขึ้นด้วยว่า จำเป็นต้องมีการให้การศึกษากฎหมาย IHL มากยิ่งขึ้น เพื่อที่จะได้มีบุคลากรในสาขานี้เพิ่มมากขึ้น ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของแค่ภูมิภาคหรือของประเทศไทยซึ่งยังอาจนับได้ว่า ‘สงบ’ มากกว่ากรณีอาชญากรรมสงครามในอีกหลายประเทศเท่านั้น แต่ทั้งหมดก็เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาคมโลกที่จะมีทรัพยากรบุคคลซึ่งพร้อมปฏิบัติงานเพิ่มมากขึ้นด้วยครับ

บรรยากาศภายในห้องแข่งขันศาลจำลองฯ ที่อาคารคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

บรรยากาศภายในห้องแข่งขันศาลจำลองฯ ที่อาคารคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต



ICRC-รู้สึกอย่างไรกับชัยชนะที่ได้รับและน้องๆจะมีการเตรียมตัวไปแข่งขันที่ฮ่องกงอย่างไรบ้างคะ

ไอริณ-ตอนแรกไม่คิดว่าจะชนะเพราะรู้สึกว่าเตรียมตัวไม่พอ อีกอย่างคือทีมที่แข่งด้วยเป็นทีมพี่ๆปีสาม ปีสี่ คิดว่าพี่ๆมีความรู้มากกว่า เลยไม่คิดว่าจะชนะ ตอนชนะรู้สึกดีใจมากๆคะ และก็ต้องขอบคุณ เพื่อนๆ พี่ๆ และ อาจารย์ ที่คอยช่วยก่อนแข่งด้วยคะ สำหรับการเตรียมตัวไปแข่งที่ฮ่องกง ก็คงต้องมาอ่านหนังสือเพิ่มอีกเยอะคะ เพราะรู้สึกว่าตัวหนูเองกับเพื่อนๆยังมีความรู้พื้นฐานที่ยังไม่แน่นพอ ส่วนจุดแข็งน่าจะเป็นด้านภาษาคะ เพราะหนูจบมาจากโรงเรียนนานาชาติ ภาษาอังกฤษจึงเป็นเหมือนภาษาแรกของหนู ทำให้อ่านพวกฎีกาและหนังสือเกี่ยวกับ IHLง่ายกว่าคนอื่น

นัทธชาติ(หัวเราะ)ไม่คิดว่าจะชนะครับ แต่พอชนะแล้วก็รู้สึกดีใจมากพอๆกับที่รู้สึกได้ถึงความรับผิดชอบที่เพิ่มมากขึ้น เพราะในทุกการแข่งขันต่อไปนี้ จะไม่ใช่แค่การทำในฐานะทีมของเราเองอีกต่อไปแล้ว แต่จะเป็นในฐานะตัวแทนของประเทศ ซึ่งจุดอ่อนและจุดแข็งเท่าที่ประเมินทีมตัวเอง ณ ขณะนี้ ก็คงอยู่ที่การยังคงต้องฝึกซ้อมการตอบคำถามในลักษณะต่างๆ ที่อาจจะถูกถามได้ และการเป็นทีมที่ “ทำจริง” ค้นคว้าจริง ฝึกจริง และพร้อมนำเสนอความจริงในชั้นศาลจำลองครับ

10500

ผู้เข้าร่วมการแข่งขันศาลจำลองฯถ่ายภาพหมู่ร่วมกับคณะกรรมการตัดสินและทีมงานของ ICRC

ICRC-อยากให้ฝากอะไรถึงน้องๆที่อยากเข้าร่วมการแข่งขันในปีหน้าด้วยค่ะ

ไอริณ-อยากให้น้องๆลงสมัครกันเยอะๆ เพราะเป็นประสบการณ์ที่ดีมากๆเลย และขั้นตอนการแข่งกับตอนเขียนเมมโมเป็นประสบการณ์ที่ทุกๆคนเอาไปใช้ได้ในชีวิตจริง ไม่ว่าจะเป็นตอนเรียนกฎหมายอย่างอื่นหรือตอนใช้ในการทำงานที่เกี่ยวกฎหมาย และด้วยการที่ IHL เป็นกฎหมายที่ค่อนข้างใหม่ทำให้เรามีความรู้ที่แตกต่างและมากกว่าคนอื่นด้วย น้องๆที่ทำอาจจะชอบกฎหมายด้านนี้และอยากทำงานด้านนี้ด้วย ถือว่าเป็นการเปิดโอกาสให้ตนเองคะ 

นัทธชาติ-พูดแบบธรรมดาที่สุดเลยคืออยากให้น้องมาทำ Moot นี้ครับ และที่อยากชวนที่สุดคืออยากให้มาทำ Moot โดยที่ไม่ต้องคิดมาก่อนว่าตัวเองจะชนะหรือแพ้ จะได้รางวัลอะไรหรือเปล่า อยากให้น้องคิดและตั้งใจแค่ว่าจะเรียนรู้ให้ได้มากที่สุด ทำความรู้จักกับกฎหมายสาขานี้ให้ดีที่สุดเท่าที่น้องจะทำได้ อย่างน้อยที่สุดเมื่อน้องได้ทำมูทนี้แล้ว สิ่งที่จะติดตัวน้องต่อไปนอกจากรู้ว่ากฎหมายตัวนี้ ‘ใช่’ เราหรือไม่ ควรทำวิจัยอย่างไรและได้ความรู้ใหม่ๆไปแล้ว น้องก็จะได้เรียนรู้วิธีการทำงานเป็นทีมกับเพื่อนๆ การสื่อสารกันในทีม รวมไปถึงการรู้จักแบ่งเวลาการทำงานและการใช้ชีวิตด้วยครับ