ชีวิตของโหงว เชร็บและเลียม โซพารา สมาชิกของทีมบาสเก็ตบอลคนพิการหญิงของกัมพูชาเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงหลังจากที่พวกเธอได้รับบาดเจ็บที่กระดูกสันหลัง หลังจากที่ต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อเลี้ยงตัวเองและครอบ ครัวในที่สุดพวกเธอทั้งสองคนก็ได้เริ่มต้นชีวิตใหม่พร้อมกับธุรกิจเล็กๆของตัวเอง

ก่อนที่จะเกิดอุบัติเหตุในปี 2546 จนส่งผลต่อไขสันหลังโหงว เชร็บ ทำธุรกิจของตัวเองอยู่กับบ้านซึ่งเธอก็พอจะมีรายได้เลี้ยงครอบครัวเล็กๆของตัวเอง แต่หลังจากเกิดอุบัติเหตุทุกอย่างก็เปลี่ยนไป เธอไม่สามารถทำงานได้และรายได้ที่มีก็ถูกนำไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาตัว เมื่อขาดรายได้ประจำครอบครัวก็ต้องหันไปพึ่งพารายได้เพียงวันละ 150 บาทจากการทำงานในไซส์งานก่อสร้างของผู้เป็นสามีเพียงคนเดียว

หนึ่งปีหลังจากอุบัติเหตุ โหงวได้เข้ารับการรักษาและได้รับอุปกรณ์ออโธปีดิกส์จากศูนย์ฟื้นฟูทางกายภาพในจังหวัดพระตะบองที่ได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศหรือไอซีอาร์ซี ในปี 2555 หลังที่โหงวเข้ารับการรักษาที่ศูนย์ได้นานเจ็ดปี เธอได้เลือกที่จะเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆให้กับตัวเองนั่นคือการเข้าร่วมทีมบาสเก็ตบอลคนพิการหญิงของกัมพูชา

แม้จะยุ่งกับธุรกิจกาแฟแต่โหงว เชร็บก็เจียดเวลาไปร่วมฝึกซ้อมบาสเก็ตบอลในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ตลอด

แม้จะยุ่งกับธุรกิจกาแฟแต่โหงว เชร็บก็เจียดเวลาไปร่วมฝึกซ้อมบาสเก็ตบอลในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ตลอด

“ฉันดีใจมากที่ได้ร่วมทีมบาสเก็ตบอลและเข้ารับการฝึกฝนประจำสม่ำเสมอ ฉันได้เจอเพื่อนใหม่ๆและพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาของฉันกับคนอื่นๆ ที่สำคัญสุขภาพของฉันดีขึ้นกว่าเดิมมาก”

ฝันที่เป็นจริง

ชีวิตของโหงวเปลี่ยนแปลงอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน 2558 หลังจากที่เธอได้ทราบข่าวเกี่ยวกับโครงการเศรษฐกิจครัวเรือนของไอซีอาร์ซีที่ให้การสนับสนุนผู้พิการในการเริ่มต้นธุรกิจเล็กๆของตัวเอง เธอสมัครเข้าโครงการและนำเงินที่ได้มาเปิดร้านขายกาแฟเคลื่อนที่

โหงว เชร็บจะบันทึกรายได้จากการขายกาแฟไว้ในสมุดเล็กๆของเธอ

โหงว เชร็บจะบันทึกรายได้จากการขายกาแฟไว้ในสมุดเล็กๆของเธอ

ทุกวันเธอและสามีจะตื่นประมาณตี 4 เพื่อเตรียมอุปกรณ์ทุกอย่างให้พร้อมก่อนจะขับมอเตอร์ไซค์ขายกาแฟไปทั่วเมืองตั้งแต่เจ็ดโมงเช้า “ฉันไม่มีปัญหาในการตื่นเช้า สิ่งสำคัญคือฉันได้กลับมาทำงานอีกครั้ง มันเป็นความฝันของฉันที่จะได้เป็นเจ้าของธุรกิจอะไรสักอย่าง” เธอกล่าวพร้อมกับขับรถมอเตอร์ไซค์ที่ออกแบบมาสำหรับผู้พิการโดยเฉพาะ

ธุรกิจของโหงวเป็นไปได้ด้วยดี เธอขายกาแฟได้เฉลี่ยเกิน 50 แก้วทุกวัน “ลูกค้าบางคนก็เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ” โหงวพูดพร้อมรอยยิ้ม

สามีของโหงว เชร็บจะช่วยส่งกาแฟให้กับลูกค้า

สามีของโหงว เชร็บจะช่วยส่งกาแฟให้กับลูกค้า

ถึงตอนนี้ครอบครัวของเธอสามารถเช่าบ้านอยู่ในตัวเมืองพระตะบองและส่งลูกสาววัย 10 ขวบเข้าโรงเรียนประถม ในอนาคตโหงววางแผนที่จะเพิ่มสินค้าให้หลากหลายขึ้น เช่น น้ำผลไม้และน้ำอัดลม เพื่อตอบสนองความต้องการของลุกค้ากลุ่มที่ไม่ดื่มกาแฟ

สร้างความแตกต่าง

เลียม โซพารา วัย 33 ปี เติบโตขึ้นในครอบครัวชาวนา เธอเป็นอีกหนึ่งผู้เข้าร่วมโครงการเศรษฐกิจครัวเรือนของไอซีอาร์ซี

ตอยที่เธออายุ 6 ขวบเลียมพลัดตกจากเนินเขาซึ่งส่งผลให้ไขสันหลังของเธอได้รับบาดเจ็บ ตั้งแต่นั้นมาเอก็ใช้ชีวิตอยู่กับรถเข็นและพึ่งพาพ่อแม่มาตลอด ชีวิตของเลียมเริ่มเปลี่ยนไปในปี 2557 หลังจากที่เธอได้รับการรักษาที่ศูนย์ฟื้นฟูทางกายภาพ

เลียม โซพารา หนึ่งในสมาชิกทีมบาสเก็ตบอลหญิงของกัมพูชาฝันที่จะมีธุรกิจเล็กๆของตัวเอง

เลียม โซพารา หนึ่งในสมาชิกทีมบาสเก็ตบอลหญิงของกัมพูชาฝันที่จะมีธุรกิจเล็กๆของตัวเอง

ที่นี่เธอได้เห็นชีวิตของผู้พิการคนอื่นๆเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น เขาและเธอเหล่านั้นทำงานได้และบางคนก็เล่นกีฬา ในเดือนมกราคม 2558 เลียมเขาร่วมทีมบาสเก็ตบอลคนพิการหญิงของกัมพูชา  “ก่อนหน้านี้ฉันมองทุกอย่างในแง่ลบ แต่หลังจากที่ฉันเข้าร่วมทีม ได้เจอเพื่อน ได้ทำกิจกรรม ชีวิตและสุขภาพของฉันก็ดีขึ้น”

ในเดือนพฤศจิกายน 2558 เลียมและพ่อแม่ของเธอได้เข้าร่วมโครงการเศรษฐกิจครัวเรือนเพื่อนำรายได้มาสร้างฟาร์มเห็ดขนาดเล็ก การเพาะปลูกเห็ดนางฟ้าเป็นอาชีพที่กำลังได้รับความนิยมในหมู่บ้านที่เธออาศัยอยู่

เห้ดนางฟ้าเป็นที่นิยมตามร้านอาหารต่างๆทั่วกัมพูชา

เห้ดนางฟ้าเป็นที่นิยมตามร้านอาหารต่างๆทั่วกัมพูชา

“ตอนนี้ชีวิตของฉันดีขึ้นมาก” เลียมบอก “ฉันมีความสุขเพราะฉันหาเงินได้ด้วยตัวเอง” ทุกเช้าเลียมจะเก็บเห็ดวันละ 5-10 กิโลกรัมไปขายที่ตลาด ซึ่งให้ราคาประมาณ 35 บาทต่อหนึ่งกิโลกรัม

เลียมสร้างโรงเรือนปลูกเห้ดไว้ใกล้บ้านเธอซึ่งทำให้สะดวกในการดูแล

เลียมสร้างโรงเรือนปลูกเห้ดไว้ใกล้บ้านเธอซึ่งทำให้สะดวกในการดูแล

เพื่อช่วยให้ผู้พิการสามารถกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติในสังคม ในปี 2558 ไอซีอาร์ซีได้จัดตั้งโครงการเศรษฐกิจครัวเรือนหรือ Micro Economic Initiatives (MEI) ในจังหวัดพระตะบองของกัมพูชา โครงการนี้เป็นการให้เงินทุนสนับสนุนแก่ผู้พิการที่ต้องการสานฝันทำธุรกิจเล็กๆของตัวเอง

ทุกๆสองสัปดาห์เจ้าหน้าที่โครงการจะไปเยี่ยมครอบครัวสมาชิกเพื่อประเมินความคืบหน้า ปัจจุบันมี 8  ครอบครัวที่สมัครเข้าร่วมโครงการกับไอซีอาร์ซี

ด้วยความสำเร็จและการต้อนรับอันอบอุ่นของครอบครัวที่รู้สึกมั่นคงขึ้นเนื่องจากมีรายได้มาจุนเจือครอบครัว ไอซีอาร์ซ๊จึงตั้งความหวังที่จะขยายโครงการนี้ให้กับผู้พิการอีกประมาณ 20 ครอบครัว