ทุกวันนี้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบทอันห่างไกลของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว ) ยังคงต้องเสี่ยงชีวิตเพื่อออกไปหาน้ำสะอาดทั้งเพื่อมาใช้ดื่มกินและใช้สำหรับพืชผลทางการเกษตรรวมถึงปศุสัตว์ คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ หรือ ไอซีอาร์ซี ได้ทำงานอย่างหนักเพื่อช่วยลดความเสี่ยงให้กับชาวบ้านเหล่านี้อย่างจริงจัง

หมู่บ้านพูโฮม แขวงอัตตะปือ-ชาวบ้านส่วนใหญ่จะเก็บน้ำบาดาลไว้ในถังพลาสติก

หมู่บ้านพูโฮม แขวงอัตตะปือ-ชาวบ้านส่วนใหญ่จะเก็บน้ำบาดาลไว้ในถังพลาสติก

สปป.ลาว เป็นประเทศที่เมื่อพิจารณาจากจำนวนประชากรแล้วเป็นประเทศที่ถูกทิ้งระเบิดมากที่สุดในโลก เชื่อกันว่าในช่วงสงครามระหว่างปี 2507 ถึง 2516 มีระเบิดจำนวนถึง 2 ล้านตันที่ถูกทิ้งในสปป.ลาว และ ร้อยละ 30 ของจำนวนทั้งหมดกลายเป็นระเบิดตกค้างที่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตเนื่องจากระเบิดเหล่านี้สามารถที่จะระเบิดขึ้นได้ทุกเมื่อหากถูกกระทบหรือสัมผัส ซึ่งสร้างความยากลำบากให้กับผู้คนที่ต้องเดินข้ามทุ่งกว้างเพื่อไปหาน้ำมาใช้ในชีวิตประจำวันหรือพาปศุสัตว์ออกไปยังแหล่งน้ำ ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา มีชาวบ้านมากกว่า 900 คน ซึ่งกว่าครึ่งเป็นเด็กๆ ที่ต้องเสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บจากระเบิดตกค้างเหล่านี้

การทดสอบปั๊มน้ำบาดาลที่หมู่บ้านห้วยอาวังช้าง

การทดสอบปั๊มน้ำบาดาลที่หมู่บ้านห้วยอาวังช้าง

ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา ไอซีอาร์ซีและองค์การกาแดงลาวได้ร่วมกันปรับปรุงการเข้าถึงแหล่งน้ำของชุมชน ซึ่งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 โครงการจัดหาน้ำให้กับชาวบ้าน 3 โครงการในพื้นที่ทางตอนใต้ของประเทศได้บรรลุผลสำเร็จซึ่งจะทำให้ชาวบ้านกว่า 3,000 คน มีน้ำสำหรับใช้ไปตลอดทั้งปี

แขวงเซกอง-ชาวบ้านถ่ายรูปร่วมกันในพิธีรับมอบโครงการที่หมู่บ้านห้วยอาวังช้าง

แขวงเซกอง-ชาวบ้านถ่ายรูปร่วมกันในพิธีรับมอบโครงการที่หมู่บ้านห้วยอาวังช้าง

ในหมู่บ้านพูโฮม ซึ่งตั้งอยู่ในเขตชนบทห่างไกลทางตอนใต้ของแขวงอัตตะปือได้มีการขุดบ่อบาดาลเพื่อให้ชาวบ้านสามารถเข้าถึงแหล่งน้ำได้โดยไม่ต้องเสี่ยงชีวิตในทุ่งที่เต็มไปด้วยระเบิดตกค้างอีกต่อไป

ระหว่างพิธีรับมอบโครงการ คุณอีริค ไวส์เซ่น วิศวกรของไอซีอาร์ซีกล่าวว่า “ชาวบ้านรู้สึกปลอดภัยขึ้นมากเพราะพวกเขาไม่ต้องเดินไปไกลหลายกิโลเมตรเพื่อหาแหล่งน้ำอีกต่อไป ยิ่งไปกว่านั้นเกษตรกรก็ยังทำการเพราะปลูกพืชผลในฤดูแล้งได้ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มและยังสามารถใช้เป็นอาหารให้กับปศุสัตว์ของพวกเขาได้อีกด้วย”

ที่หมู่บ้านห้วยอาวังช้าง ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของแขวงเซกองได้มีพิธีรับมอบบ่อน้ำบาดาลลึก 60 เมตร ซึ่งชาวบ้านคนหนึ่งบอกกับเราว่า “มันเป็นเรื่องที่ดีมากที่มีแหล่งน้ำอยู่ใกล้ๆและไม่ต้องคอยหวาดระแวงว่าจะเดินไปเหยียบระเบิดตกค้างหรือกับระเบิด”

บ่อน้ำบาดาลทั้งสองแห่งดำเนินการโดยผู้รับเหมาท้องถิ่นโดยได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากไอซีอาร์ซีและศูนย์สุขภาพสิ่งแวดล้อมและแหล่งน้ำแห่งชาติ หรือ Nam Saat และองค์การกาแดงลาวที่แขวงเซกอง ซึ่งก่อนหน้าที่จะดำเนินงานขุดเจาะบ่อบาดาลทั้งสองแห่ง ทางองค์การเก็บกู้ระเบิดแห่งชาติลาว หรือ UXOLAO ได้เข้าไปช่วยเก็บกู้กับระเบิดและระเบิดตกค้างบางส่วนจนทำให้พื้นที่นี้กลายเป็นพื้นที่ปลอดภัย

แขวงเซกอง-น้ำจากโครงการปรับปรุงคลองชลประทานจะถูกส่งไปยังนาข้าวของชาวบ้านในหมู่บ้านท่าแตง

แขวงเซกอง-น้ำจากโครงการปรับปรุงคลองชลประทานจะถูกส่งไปยังนาข้าวของชาวบ้านในหมู่บ้านท่าแตง

โครงการที่ไอซีอาร์ซีทำนั้นไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่การขุดบ่อบาดาลเท่านั้น โดยในแขวงเซกองไอซีอาร์ซีและองค์การกาแดงในท้องถิ่นได้ให้การสนับสนุนแก่หน่วยงานการเกษตรในการปรับปรุงคลองชลประทานโดยได้มีการว่าจ้างผู้รับเหมาในท้องถิ่นเข้ามาดำเนินงาน

นอกจากการทำงานในพื้นที่ทางภาคใต้ของสปป.ลาวแล้ว คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศหรือไอซีอาร์ซีก็ยังมีโครงการทางตอนเหนือของประเทศเช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่น การติดตั้งระบบกรองน้ำที่โรงพยาบาลในหลวงพระบางเพื่อที่จะทำให้ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์สามารถเข้าถึงน้ำสะอาดได้ถ้วนหน้ากัน